วันที่ 22 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นชี้แจง และตอบข้อซักถาม ในนามของพรรคเพื่อไทยที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ในนามพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ต้องขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่มีความเห็น และข้อห่วงใย โดยซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวบุคคล และลักษณะต้องห้ามของบุคคล เพื่อตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศไปเป็นนายกฯของคนไทยทุกคน ตนมี 3 ประเด็นที่จะชี้แจงในฐานะพรรคการเมืองที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ คือ
1.ข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม จากการประกอบอาชีพภาคเอกชนในบริษัทมหาชน โดยการประกอบกิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ เราไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ต่อพี่น้องประชาชน
ข้อสงสัยเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี การซื้อขายที่ดินที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการแต่งตังบุคคล ตัวแทน นอมินี มารองรับนั้น ในมุมของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ละเลยเรื่องดังกล่าว ขอยืนยันว่า เราตรวจสอบข้อกฎหมายทุกอย่าง ล่วงเลยไปถึงจริยธรรมความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยยืนยันว่าไม่มีเรื่องใดที่ผิดกฎหมาย ไม่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ หลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่านายเศรษฐาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีแต่ข้อกล่าวหาที่โน้มเอียงเป็นลักษณะการเชื่อมโยงหลักฐาน แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จึงยังถือว่านายเศรษฐาเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า 2.สมาชิกรัฐสภาหลายท่านอาจจะแสดงความเห็นในฐานะพรรคการเมือง ว่าไม่สามารถให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาได้ ด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม แต่เป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมือง และพฤติกรรมการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตนขอชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนทุกเสียง ขีดเส้นใต้คำว่าทุกเสียง ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์เป็นประมุข
จริงอยู่ว่าในพฤติกรรมการแสดงออกในบ้านนี้เมืองนี้ อาจมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ว่ากลุ่มนั้นเสรีนิยม กลุ่มนี้อนุรักษ์นิยม แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรล้วนแต่เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยยึดมั่นคือระบอบการปกครอง สำคัญที่สุดคือระบบรัฐสภา สส.ที่ถูกเลือกมาในสภาที่ขณะนี้มี 499 คน ล้วนมาจากการเลือกของพี่น้องประชาชน ที่ทุกคนถือว่าเป็นปวงชนชาวไทย เขาเหล่านั้นเป็นผู้ให้สิทธิ์ให้เสียงตัวแทนของเขาเข้ามา เขาเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเผด็จการ และจริงอยู่ว่าพฤติกรรรมที่ผ่านมา เรามีการแบ่งแยกทางความคิดกันอย่างสิ้นเชิงใน
ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย มีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างเจ็บปวด แต่คนที่เจ็บปวดที่สุดคือพี่น้องประชาชนคนไทย ถามว่าเราขัดแย้งกันสู้กันแล้วได้อะไรขึ้นมา นี่คือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เราเห็นความย่อยยับ สูญเสีย โอกาสของประชาชนที่เสียหายไป เพียงเพราะมีความคิดต่างกันบนพื้นฐานความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน แน่นอนว่าถ้ามีความเชื่อแบบนี้ฝ่ายที่บอกว่าต้องการปกป้องรักษาบ้านเมือง สถาบันหลักของชาติ เขาก็ต้องปกป้องต้องแสดงออกเต็มที่ ถ้าคุณมีพฤติการณ์ พฤติกรรม ที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติย่อมมีการต่อสู้ทำลายล้าง นั่นคือเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราจะปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปอย่างนั้นหรือ
พรรคเพื่อไทยนำเรื่องนี้มาคิดหนัก จริงอยู่ที่เรายินดี และส่งเสริมในสิ่งที่เป็นอำนาจประชาชน เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับสองมีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับสองสามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดเพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
ไทยรักไทย พลังประชาชน เราเอาหัวชนฝามาเราเจ็บ เราเกิดก่อนเรามีประสบการณ์ แล้วเราจะเอาหัวไปชนฝาทำให้ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน เสียหายไปเราไม่ทำ สิ่งที่ดีที่สุด เราหันหน้ามาจับมือดุลอำนาจ ประนีประนอมอำนาจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมือง น่าจะเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดในโอกาสเปลี่ยนผ่านนี้ เราต้องปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ ทุกคนพูดเหมือนกัน แต่วิธีการทำไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะวิธีการที่มีความคลางแคลงสงสัยมันทำให้เกิดความขัดแย้ง
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยอาสาเข้ามาสลายความขัดแย้งตรงนี้ จัดตั้งรัฐบาลในนามของทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันได้ วันนี้เราได้ 11 พรรค และมั่นใจว่าพรรคอื่นๆจะตามมาอีก เพื่อสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่คือจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล เราเชื่อมั่นว่าแนวทางจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ และถ้าจะสลายความขัดแย้งได้ต้องอาศัยกลไกนี้เท่านั้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า 3.ข้อห่วงใยเรื่องนโยบายโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เป็นเพียงนโยบายที่เราใช้รณรงค์หาเสียง ส่วนนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา ตรงนั้นท่านวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ เพราะจะถูกนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเป็นข้อห่วงใย ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็น เราแก้เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการที่จะทำแบบนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการทำประชามติ เราจึงประกาศว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลเรื่องที่จะทำเร่งด่วนคือแก้ปัญหาปากท้อง ส่วนอีกเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะต้องใช้เวลาจะล่าช้าไม่ได้ จึงจะทำประชามติว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และจัดทำโดยใคร
ถ้าได้รับมติจากพี่น้องประชาชนก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ความตั้งใจของเราคือจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา ซึ่งรายละเอียดต้องคุยกันอีกครั้งโดยที่ทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะทำงานด้วยกันได้ บนพื้นฐานเริ่มต้นเป็นรัฐบาลแห่งความปรองดอง หันหน้าเข้ามากัน มาเริ่มต้นตรงนี้ ตนเชื่อว่าทุกคนมีจิตปรารถนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองแน่นอน ความเห็นต่างเป็นสีสันสวยงามในระบอบประชาธิปไตย แต่เราจะแปลงความเห็นต่างตรงนั้นมาเป็นความเห็นร่วมอย่างไรขึ้นอยู่กับพวกเรา 750 คน โอกาสนี้ถ้าท่านมอบความไว้วางในให้นายเศรษฐาผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วมเพื่อหันหน้าเข้าหากัน มาทำงานร่วมกันในนามพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค
เราหวังว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่หวังมันไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะมิติสังคมไทยที่มีความแตกต่างหลากหลาย เราต้องรับความแตกต่างหลากหลาย และรับมาบริหารจัดการให้เป็นโอกาสที่ดีต่อพี่น้องประชาชนมากที่สุด ตนขอบคุณสมาชิกที่จะขานชื่อนายเศรษฐาให้สมควรเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ