วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชั่วโมง 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 12-21 พฤศจิกายน 2566 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป)
โดยระบุว่า ช่วงวันที่ 12-13 พฤศจิกายน คาดว่ายังมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางเริ่มแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระลอก ๆ ทำให้ลมหนาวที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ ยังมีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้พัดแทรกเข้ามาปกคลุมบางช่วง ยังมีฝนรบกวน ยังไม่ขาดเม็ด เป็นฝน/ฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล เมฆมากช่วงบ่าย ต้องเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองในระยะนี้
นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังเก็บเกี่ยวและตากผลผลิต (ข้าวนาปี) งานกลางแจ้ง เช้าถึงบ่ายแดดพอมีแดด เย็น ๆ มีเมฆมาก และมีฝน อากาศยังไม่เย็นลงมากนัก ความชื้นสูง ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต้องเฝ้าระวัง พี่น้องชาวเรือระวังคลื่นลมแรงบริเวณที่ฝนฟ้าคะนอง
และในช่วง 14 - 21 พฤศจิกายน ฤดูหนาวมาช้าแต่มาชัวร์ เตรียมรับลมหนาว คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอบน ทำให้ลมหนาวแรงขึ้น ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลง อาจจะยังมีฝนเกิดขึ้นในบ้างช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาระยะแรก (16 พฤศจิกายน)
หลังจากนั้นอุณหภูมิจะเริ่มลดลง และมีลมแรง เป็นสัญญาณการเริ่มต้นฤดูหนาวเริ่มชัดขึ้นในช่วงนี้ เตรียมวางแผนไปสัมผัสเย็นถึงหนาวได้ โดยเฉพาะตามยอดดอย ยอดภู อากาศหนาว (17 - 20 พฤศจิกายน) พื้นราบอากาศเย็น ระมัดระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ส่วนภาคใต้ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง คลื่นลมแรงขึ้น ปีนี้การเริ่มต้นฤดูหนาวมาช้า อาจจะเลื่อนไปในช่วงกลางเดือพฤศจิกายน ช่วงแรก ๆ อาจจะยังมีฝนฟ้าคะนอง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป