วันที่ 17 พ.ย. 66 หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ เมื่อเวลาประมาณ 08.37 น. วันที่ 17 พ.ย. 2566 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ พิกัดละติจูดที่ 21.189 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 99.344 องศาตะวันออก ขนาด 6.4 ริกเตอร์ ความลึก 9 กม. ใกล้กับเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 100 กม. สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ทั้งภาคเหนือ การสั่นสะเทือนยังส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในตึกสูงในกรุงเทพฯ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
หลังจากนั้น ได้มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ครั้งแรกในเวลา 08.42 น. ความแรง 4.1 ริกเตอร์ ลึก 10 กม. พิกัด 21.219 องศาเหนือ 99.524 องศาตะวันออก ห่างแม่สาย 94 กม. ครั้งที่ 2 เวลา 08.46 น. ความแรง 3.5 ริกเตอร์ ลึก 4 กม. พิกัด 21.213 องศาเหนือ 99.295 องศาตะวันออก ห่างแม่สาย 106 กม. ครั้งที่ 4 เวลา 08.48 น. ความแรง 3.4 ริกเตอร์ พิกัด 21.208 องศาเหนือ 99.302 องศาตะวันออก ห่างแม่สาย 105 กม. ครั้งที่ 6 เวลา 09.06 น. ความแรง 3.4 ริกเตอร์ ลึก 4 กม. พิกัด 21.178 องศาเหนือ 99.406 องศาตะวันออก ห่างแม่สาย 96 กม.
สำหรับรัฐฉานเคยเกิดแผ่นไหวรุนแรงขึ้นหลายครั้งในรอบ 10 ปี โดยเมื่อปี 2554 เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 ห่างจาก จ.เชียงราย ประมาณ 70 กิโลเมตร โดยมีความถึง 6.8 และเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงหลายครั้งจนสร้างความเสียหายให้อาคารบ้านเรือน สะพาน ฯลฯ อย่างหนักรวมไปถึงโบราณสถานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ใน จ.เชียงราย ด้วย เพราะมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่หลายรอย เช่น รอยเลื่อน Wan Ha รอยเลื่อน Nam Ma
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่า กลุ่มคนไทยที่ได้รับการข่วยเหลือกลับประเทศ แต่ยังติดในขั้นตอนการตรวจสอบของทางการเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ได้แจ้งกลับมาว่าไม่ได้รับอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ทุกคนปลอดภัยดี แต่อยากให้ทางการไทยเร่งรัดช่วยเหลือกลับประเทศโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ขณะเกิดแผ่นดินไหว มีการรับรู้แรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคารแตกตื่นและวิ่งหนีออกไปในที่โล่งบางราย กำลังทำธุระส่วนตัวหรือทำงานบ้านพยายามหาที่ปลอดภัย ในส่วนของโรงเรียนต่างๆ ได้มีการซ้อมแผนรับมือกับ สถานการณ์แผ่นดินไหวเอาไว้ โดยเฉพาะที่โรงเรียนเทศบาล 2 (หนองบัว) ภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงเรียนเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเพิ่งเข้าเรียนในรายวิชาแรก และหลังจากลงนั่งเรียนเพียงไม่กี่นาทีก็เริ่มเกิดการสั่นไหวทำให้โต๊ะและเก้าอี้โยกไปมา
จนกระทั่งมีการสั่นไหวในระดับ 6.4 จึงทำให้ทุกคนภายในห้องพากันก้มตัวและมุดลงใต้โต๊ะโดยไม่ต้องมีการบอกกันซึ่งตรงตามการซ้อมแผนเผชิญเหตุที่มีการทำเป็นประจำทุกปี ซึ่งหลังการสั่นไหวหยุดลง ครูก็ได้ให้เด็กๆ ออกไปอยู่ในที่โล่ง ด้านนอกอาคารเพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกับที่โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ครูต่างพานักเรียนออกมารวมกันอยู่บริเวณ สนามซึ่งเป็นที่โล่ง หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปตรวจสอบอาคารเด็กภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีอาคารส่วนต่อขยายตรงจุดเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่สูง 5 ชั้น ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยแนวตั้งยาว ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างขัดเจนจากภายนอก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการให้เร่งเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่สาย ที่ด้านหน้าอาคารได้รับความเสียหายเล็กน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพื่อซ่อมแซมต่อไป
นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงรายกล่าวว่ากรณีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการกระเทาะออกมาของปูนฉาบที่เชื่อมระหว่างอาคารใหม่ และเก่ารวม 2 หลัง และอาคารสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ถึงระดับ 6-8 เพราะฉะนั้นโครงสร้างจึงไม่ได้รับกระทบ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ กระนั้นตนห่วงเรื่องบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจแล้ว
มีรายงานว่า ขณะเกิดแผ่นดินไหว มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตกจากอาคารกำลังก่อสร้าง 1 ราย แขนหัก