จากคำพิพากษาคดีลุงพลที่ออกมา ทีมข่าวพีพีทีวีไปคุยกับนักกฎหมาย 2 คน คือ “ทนายตั้ม” กับ “อัยการปรเมศวร์” มองต่างกันเรื่องทิศทางคดี โดยอัยการปรเมศวร์ มองว่า การที่ศาลตัดสินแบบนี้ แสดงว่ามีหลักฐานบ่งชี้พฤติกรรมชัดเจนแล้ว ยากที่จะหลุดในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ขณะที่ทนายตั้ม มองต่าง บอกว่าที่จริงหลักฐานในคดีไม่ได้แน่นขนาดนั้น เขายังเคยพูดเลยว่า คดีนี้ใครมาทำก็รอด แต่ทนายลุงพลพลาดที่ไม่ต่อสู้ด้วยนิติวิทยาศาสตร์ จนศาลพิพากษาลงโทษจำคุก
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ “ทนายตั้ม” เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ บอกว่า “ผิดคาด” เมื่อเห็นคำพิพากษาในคดีน้องชมพู่ตัดสินจำคุก “ลุงพล” เพราะเคยพูดแต่แรกว่าคดีนี้ใครทำก็ยก เนื่องจากเป็นคดีที่พยานหลักฐานบาง หลักฐานสำคัญคือเส้นผมถูกสับที่พบในจุดเกิดเหตุและในรถลุงพล ก็ไม่พบดีเอ็นเอว่าเป็นผมของใคร พิสูจน์ได้แค่ว่าเป็นสายฝั่งแม่ และรอยขาดของเส้นผม มีของมีคมอะไรอีกบ้างที่จะตัดแล้วเกิดรอยลักษณะเดียวกัน
แต่ทนายลุงพลพลาดที่ไม่นำผู้เชี่ยวชาญมาสืบพยานต่อสู้ประเด็นนี้ กลับไปต่อสู้ว่าสุนัขพาน้องชมพู่ขึ้นไปบนเขา ซึ่งไม่ใช่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้ศาลเชื่อหลักฐานฝั่งโจทย์ซึ่งตำรวจรวบรวมได้แน่นหนามากกว่า จนถูกพิพากษาจำคุก ส่วนคำให้การของลุงพลก็มีพิรุธ โดยวันเกิดเหตุ ลุงพลให้การว่า ไปบอกพระว่าน้องชมพู่หาย ทั้งที่โทรศัพท์ลุงพลอยู่กับป้าแต๋น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าลุงพลรู้ได้อย่างไร นายษิทรา มองว่า คดีนี้ศาลมองว่าจำเลยมีพิรุธจากคำให้การที่ไม่ตรงกัน สำหรับการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ปกติจะไม่นำสืบพยานเพิ่มแล้ว
แต่จะนำหลักฐานที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นมาให้ศาลอุทธรณ์อ่าน ซึ่งส่วนตัวมองว่าผลพิพากษาในชั้นหลังจากนี้ยังออกได้ทุกทาง ไม่ว่าจะหนักขึ้นเป็นเจตนาฆ่า คืออาจมองว่าการเอาตัวน้องไปเป็นการเล็งเห็นผลให้น้องเสียชีวิต ยกฟ้อง หรือยืนตามศาลชั้นต้นก็ได้ เมื่อถามว่า ช่วงที่เข้าไปช่วยเรื่องคดีให้ลุงพล พอทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีอย่างไรบ้าง นายษิทรา บอกว่า ก็พอจะรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนหลังจากนี้จะมีโอกาสกลับไปทำคดีให้ลุงพลอีกหรือไม่ นายษิทรา ไม่ตอบตรงๆ บอกเพียงว่า ตอนนี้ลุงพลเรียนกฎหมายแล้ว แล้วก็เรียนเนติฯ ด้วย ตนเองจะไปยุ่งทำไม ทนายตั้ม ก็เชื่อว่า คดีน้องชมพู่อาจต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 ปี กว่าจะจบชั้นศาลฎีกา
ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโสสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า คดีนี้ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาอย่างละเอียด แต่การที่ศาลตัดสินแบบนี้ แสดงว่าพฤติการณ์ต่างๆ ในเหตุการณ์ชัดเจนแล้ว โดยมองว่า คดีอาจไม่จำเป็นจะต้องมีประจักษ์พยานเสมอไป แต่มีพยานแวดล้อมและนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ได้ ซึ่งมีความสมเหตุสมผล ทำให้ศาลลงโทษได้ เมื่อถามว่าจากพยานหลักฐานที่ศาลยกในคำวินิจฉัย ลุงพลมีโอกาสต่อสู้จนหลุดในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้หรือไม่ นายปรเมศวร์ บอกว่า ส่วนตัวมองว่ายาก เพราะจากการอ่านคำพิพากษาใช้เวลาค่อนข้างนาน เชื่อว่าคำพิพากษาฉบับเต็ม มีความละเอียดรอบคอบ ครบทุกมิติแล้ว และเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก
ศาลจะวินิจฉัยละเอียดมากกว่าปกติ ส่วนกรณีที่ย่อหน้าสุดท้ายของคำพิพากษาฉบับย่อ มีความเห็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่ตรวจสำนวนและทำความเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควร เห็นควรให้ยกฟ้องโดยให้รวมในสำนวน จะเป็นข้อที่ฝ่ายลุงพลใช้ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้หรือไม่ นายปรเมศวร์ บอกว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียด แต่เชื่อว่าอาจหมายถึงข้อหาอื่นๆ ที่มีการยกฟ้องไป ซึ่งก็ต้องดูว่าพยานโจทย์ตรงไหนที่น่าสงสัย ส่วนตัวขอดูรายละเอียดก่อน แต่ก็มองว่าเรื่องนี้ อาจเป็นข้อที่ฝ่ายลุงพลนำไปใช้ต่อสู้คดีได้เช่นกัน โดยนายปรเมศวร์ เชื่อว่าคดีนี้มีการอุทธรณ์แน่นอน โดยมองว่า จะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ก็จะจบในชั้นฎีกา แต่อย่างน้อยคำพิพากษาในศาลชั้นตั้น ทำให้สังคมได้ตาสว่างขึ้น