เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 เว็บไซต์ต่างประเทศDaily Mailได้มีการรายงานว่า ห้างสรรพสินค้าเมซีส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้างค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เตรียมปลดพนักงานราว 2,350 คน และปิดอีก 5 สาขา ซึ่งถือว่าเป็นห้างค้าปลีกรายล่าสุด ที่ตกอยู่ในปรากฏการณ์การล่มสลายของวงการค้าปลีกของสหรัฐฯ
จากการรายงานข่าว อ้างบันทึกติดต่อภายในของบริษัท ที่แสดงให้เห็นว่า เครือห้างค้าปลีกเมซี่ส์ มีแผนที่จะเพิ่มระบบอัตโนมัติในห่วงโซ่อุปทานให้มากขึ้น และปรับลดการลำดับขั้นในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจ ทั้งนี้ การปรับลดพนักงานดังกล่าว จะทำให้พนักงานจะหายไปราว 3.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงานห้างทั้งหมด และ 13 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบริษัท
อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่นายโทนี สปริง ประธานบริษัท เมซีส์ เตรียมที่จะขึ้นเป็น ซีอีโอ แทนนายเจฟฟ์ เกนเนตต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่จะถึงนี้ โดยในบันทึกที่เขียนโดยเกนเน็ตต์ และสปริง ที่วอลสตรีทเจอร์นัล ได้รับมา ระบุว่า แม้ว่าบริษัทจะมีการดำเนินการที่เข้มแข็งและชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ยังคงเผชิญกับแรงกดดัน
รายงานยังระบุอีกด้วยว่า หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เมซีส์ประกาศแผนการที่จะพุ่งเป้าไปที่ร้านค้าขนาดเล็กนอกใจกลางเมือง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของบริษัท จากที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันว่า ห้างเมซีส์จะตั้งสาขาใหญ่ ๆ อยู่ใจกลางเมือง แต่ภายในปี 2025 เมซีส์ต้องการที่จะเปิดสาขาเล็ก ๆ อีก 30 สาขา ที่ใช้เนื้อที่ราว 30,000 - 50,000 ตารางฟุต
ขณะที่CNNได้มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การปลดพนักงานราว 2,350 คน และปิด 5 สาขา ของเมซีส์ มีขึ้นท่ามกลางยอดขายที่ลดลงของห้างเมซีส์ ท่ามกลางการเติบโตของการช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์ โดยโฆษกของเมซีส์ ได้เปิดเผยกับ CNN ว่า ในขณะที่ห้างกำลังเตรียมปรับใช้กลยุทธ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราได้ตัดสินใจที่ยากลำบากในการลดจำนวนคนงานลง 3.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น
สำหรับ ห้างเมซีส์ เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1858 จากวันเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน ห้างเมซีส์ กลายห้างค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีสาขาทั่วประเทศราว 500 สาขาเลยทีเดียว
ส่วนปรากฏการณ์ การล่มสลายของวงการค้าปลีก (retail apocalypse) คือ การที่ผู้บริโภครุ่นเจนวาย ไม่สนใจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออฟไลน์ในสหรัฐ เนื่องจากไม่สามารถแข่งราคาและความสะดวกในการซื้อของออนไลน์ได้ ทำให้ห้างและร้านค้าออฟไลน์ในสหรัฐ ต้องปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
ข้อมูลDaily Mail,CNN